เข้าใช้งานระบบ / Sign in
 Untitled Document
ลักษณะสหกิจศึกษา
      1. เสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว
      2. มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอนตรงตามสาขาวิชาชีพ เน้นงานโครงงาน (Project) ที่เป็นประโยชน์กับสถานประกอบการ (งานมีคุณภาพ)
      3. ทำงานเต็มเวลา (Full Time)
      4. ระยะเวลาปฏิบัติงานเต็ม 1 ภาคการศึกษา (16 สัปดาห์)
      5. มีค่าตอบแทนตามสมควร (หากไม่มีค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือความสมัครใจของนักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาให้การยอมรับ)
บทบาทและหน้าที่ของนักศึกษาสหกิจศึกษา
      นักศึกษาสหกิจศึกษา สามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงจาการปฏิบัติงาน นักศึกษาได้รับทราบด้วยตนเองว่า
      - ความรู้ในเรื่องใดที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ
      - การพัฒนาตนเองให้อยู่ร่วมกับสังคมโดยเหมาะสมกับเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารในสถานประกอบการ
      - การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
      - การสื่อสารและการเป็นผู้นำ
      - มีโอกาสในการสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความป็นจริงของการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะ การพัฒนาตนเอง นอกเหนือไปจากทักษะด้านวิชาการ
ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจาการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
      1. ได้รับประสบการณ์วิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเรียนในห้องเรียน
      2. เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ
      3. ส่งผลให้มีผลการเรียนดีขึ้นภายหลังการปฏิบัติงานเนื่องด้วยมีความเข้าใจในเนื้อหาวิชามากขึ้นจากประสบการณ์การปฏิบัติงานจริง
      4. เกิดทักษะการสื่อสารข้อมูล (Communication Skill)
      5. ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน
      6. สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้องเนื่องจากได้รับทราบความถนัดของตนเองมากขึ้น
      7. สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานที่มากกว่า และมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
คุณสมบัตินักศึกษาสหกิจศึกษา
      สาขาวิชาจะเป็นผู้คัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นนักศึกษาสหกิจศึกษา
      1. มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 2.50 ขึ้นไป ในภาคการศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจ หรือให้หัวหน้าสาขาวิชาเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป
      2. จะต้องสอบผ่านรายวิชาพื้นฐานที่สาขาวิชากำหนดเป็นวิชาเงื่อนไขของสหกิจศึกษา เพื่อให้ปฏิบัติงานสหกิจศึกษาได้
      3. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยหรืออยู่ระหว่างถูกพักการศึกษา
      4. มีวุฒิภาวะ และสามารถพัฒนาตนเองได้ดี
      5. ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
      6. จะต้องผ่านการลงทะเบียนรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาก่อน หรือผ่านการปฐมนิเทศ และฝึกอบรมในรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา ตามที่ศูนย์สหกิจศึกษากำหนด
ข้อแนะนำนักศึกษาในการปฏิบัติงานสหิจศึกษา
      นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาสหกิจศึกษา มีหน้าที่ดังนี้
      1. นักศึกษาแจ้งรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อนักศึกษาขึ้นชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 1
      2. ติดตามข่าวสารการจัดหางาน และประสานกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์สหกิจศึกษาฯ ตลอดเวลาเพื่อรับทราบความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
      3. หมั่นฝึกฝนและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องรวมทั้งทักษะคอมพิวเตอร์ และภาษาก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
      4. ตั้งใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากพนักงานที่ปรึกษาอย่างเต็มกำลังความสามารถ
      5. ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยหรือข้อบังคับของสถานประกอบการโดยไม่ฝ่าฝืนหรือละเลย เช่น ระเบียบการลาและนักศึกษาไม่ควรหยุดงานโดยไม่จำเป็น
      6. หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งในสถานประกอบการทุกกรณี
      7. ติดต่อส่งเอกสารที่กำหนดและให้ข่าวสารการปฏิบัติงานของตนเองกับศูนย์สหกิจศึกษาฯ ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ
      8. หากมีปัญหาในการปฏิบัติงานจะต้องรีบติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา หรือเจ้าหน้าที่สหกิจศึกษาทันที
      9. ต้องเข้าร่วมการสัมมนาสหกิจศึกษา หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานในสถานประกอบการตามระยะเวลาที่กำหนด
การอบรมสัมมนานักศึกษาสหกิจศึกษาก่อนไปปฏิบัติงาน
      กลุ่มงานสหกิจศึกษา จะจัดให้มีการฝึกอบรมนักศึกษาก่อนออกไปปฏิบัติงานสหกิจอย่างต่อเนื่องล่วงหน้า 1 ภาคการศึกษา ในรายวิชาเตรียมสหกิจ เพื่อเป็นการเตรียมให้นักศึกษามีความพร้อมสูงสุดก่อนที่จะไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ มีหัวข้อที่จะอบรมเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
การเลือกงานและสถานประกอบการ
      • การเขียนใบสมัครงาน
      • การเขียนประวัติส่วนตัว
      • การเตรียมตัวสัมภาษณ์
      • การบรรยายพิเศษของสถานประกอบการ
      • การพัฒนาบุคลิกภาพ
      • การเขียนรายงานและนำเสนอโครงการ / ผลงาน
      • อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
      • 5 ส
      • การบริหารงานคุณภาพ
      • วัฒนธรรมองค์กร
      นักศึกษาที่ขาดการอบรมจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ไปปฏิบัติงาน และได้รับการประเมินผลเป็น U หรือ F ในรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา
      ในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบปลายภาคจะจัดให้มีกิจกรรมพบอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำสาขาวิชา และกิจกรรมอบรมเตรียมความพร้อมสู่ความสำเร็จ ซึ่งจะมีการแนะนำการปฏิบัติตนในสถานประกอบการ ชี้แจงข้อข้องใจต่างๆ แก่นักศึกษา ในวันดังกล่าวจะถือว่านักศึกษามีความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะทางด้านวิชาการ ระเบียบวินัยและบุคลิกภาพ หากมีนักศึกษาที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะไปปฏิบัติงาน อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาจะแจ้งผลให้นักศึกษาทราบเพื่อระงับการปฏิบัติงานทันที เช่น กรณีนักศึกษาผิดวินัยนักศึกษาระหว่างภาคการศึกษา
      การเตรียมตัวและการไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการ นักศึกษามีสถานภาพเป็นพนักงานชั่วคราวของสถานประกอบการ ต้องปฏิบัติตามระเบียบการลาของสถานประกอบการโดยเคร่งครัด การลากิจต้องแจ้งล่วงหน้า และควรลาเมื่อมีเหตุสมควรให้ลาเท่านั้น และควรชดเชยเวลาทำงานด้วย ส่วนการลาป่วยนั้นนักศึกษาควรโทรศัพท์ติดต่อแจ้งให้พนักงานที่ปรึกษาทราบ และนักศึกษาควรไปถึงที่ทำงานก่อนเวลาทำงานเล็กน้อย ทั้งนี้การลาหยุดงานบ่อยๆ และการไปทำงานสายจะมีผลต่อการประเมินการปฏิบัติงานของนักศึกษา
      เมื่อนักศึกษาออกไปปฏิบัติงานกับสถานประกอบการ นักศึกษาจะมีพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) หรือพี่เลี้ยงคอยให้การดูแลและชี้แนะนักศึกษาซึ่งนักศึกษาจะต้องตั้งใจปฏิบัติงาน เชื่อฟัง และให้ความเคารพพนักงานที่ปรึกษา เพื่อสร้างความสัพมันธ์ที่ดีในระหว่างปฏิบัติงาน กิจกรรมระหว่างการปฏิบัติงาน
      เพื่อให้การประสานงานระหว่างนักศึกษา และเจ้าหน้าที่สหกิจศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นักศึกษาจะต้องจัดส่งเอกสารที่จำเป็นให้กับกลุ่มงานสหกิจศึกษา ภายในระยะเวลาที่กำหนดดังนี้
ในระหว่างสัปดาห์แรกของการปฏิบัติงาน
      นักศึกษาจะต้องส่งแบบรายงานตัวเข้าปฏิบัติงานและแจ้งที่พักระหว่างการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และแบบแจ้งรายละเอียดงาน ตำแหน่งงาน และพนักงานที่ปรึกษาโดยแจ้งสถานที่ปฏิบัติงาน
(ชื่อโรงงาน-ที่อยู่) ชื่อพนักงานที่ปรึกษา หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หมายเลขโทรศัพท์ และโทรสารที่จะติดต่อกับนักศึกษาและพนักงานที่ปรึกษา
ในระหว่างสัปดาห์ที่ 2 ของการปฏิบัติงาน
      นักศึกษาจะต้องส่งแบบแจ้งแผนการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา เพื่อแจ้งแผนการปฏิบัติงาน (Work Plan) มายังสำนักงานกลุ่มงานสหกิจศึกษา
ในระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ของการปฏิบัติงาน
      นักศึกษาจะต้องจัดส่งแบบแจ้งโครงร่างรายงานการปฏิบัติงาน เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาได้ตรวจสอบและให้คำแนะนำ
      นักศึกษาอาจจะเริ่มเขียนรายงานได้ทันทีหากอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาไม่ได้แจ้งแก้ไขหัวข้อหรือเค้าโครงร่างรายงาน ทั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาอาจจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมระหว่างการไปนิเทศงานก็ได้ในกรณีที่พนักงานที่ปรึกษาไม่มีเวลาเขียนข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆ ให้ นักศึกษาอาจจะแก้ปัญหาโดยการสอบถามข้อมูลด้วยวาจาแล้วเป็นผู้เขียนข้อมูลด้วยตนเอง จากนั้นนำไปให้พนักงานที่ปรึกษาตรวจและลงนามรับทราบ หากมีเหตุขัดข้องประการใดที่ทำให้ไม่สามารถจัดส่งเอกสารได้ตามกำหนด จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สหกิจศึกษาทราบทางโทรสารหรือจดหมายทันที ในระหว่างการปฏิบัติงาน
      นักศึกษาควรจดบันทึกการทำงานประจำวัน และสรุปการทำงานประจำสัปดาห์ เพื่อรายงานการปฏิบัติงานให้พนักงานที่ปรึกษาทราบ และเพื่อใช้ประกอบการเขียนรายงานวิชาการของนักศึกษาเอง ระหว่างปฏิบัติงานนักศึกษาจะต้องปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของการบริหารงานบุคคลของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัดทุกประการ เช่น การแต่งกาย กำหนดเวลาการเข้าออกงาน วันหยุด และวันลา เป็นต้น
      นักศึกษาต้องส่งรายงานที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ให้แก่พนักงานที่ปรึกษาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ก่อนเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานและจะต้องแก้ไขตามพนักงานที่ปรึกษาแนะนำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนกลับมหาวิทยาลัย
การเขียนรายงาน       การเขียนรายงานถือเป็นกิจกรรมบังคับของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาแต่ละคน มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ของนักศึกษา และเพื่อจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับสถานประกอบการ นักศึกษาจะต้องขอรับคำปรึกษาจากพนักงานที่ปรึกษา เพื่อกำหนดหัวข้อรายงานที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการเป็นหลัก ตัวอย่างของรายงานสหกิจศึกษา ได้แก่ ผลงานวิจัยที่นักศึกษาปฏิบัติ รายงานวิชาการในหัวข้อที่สนใจ การสรุปข้อมูลหรือสถิติบางประการ การวิเคราะห์และประเมินผลข้อมูล เป็นต้น
      ในกรณีที่สถานประกอบการไม่ต้องการรายงานในหัวข้อข้างต้น นักศึกษาจะต้องพิจารณาเรื่องที่ตนสนใจและหยิบยกมาทำรายงาน โดยปรึกษากับพนักงานที่ปรึกษาเสียก่อน
ตัวอย่างหัวข้อที่จะใช้เขียนรายงาน ได้แก่ รายงานวิชาการที่นักศึกษาสนใจ รายงานการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแผนและวิธีการปฏิบัติงานที่จะทำให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่นักศึกษาวางเป้าหมายไว้จากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Learning Objectives) เมื่อกำหนดหัวข้อได้แล้ว
ให้นักศึกษาจัดทำโครงร่างของเนื้อหารายงานพอสังเขปตามแบบแจ้งเค้าโครงร่างรายงานการปฏิบัติงาน ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานที่ปรึกษาก่อน แล้วจัดส่งกลับให้ศูนย์สหกิจศึกษาฯ
      ภายใน 3 สัปดาห์แรกของการปฏิบัติงาน และให้สถานประกอบการลงนามรับรองในหนังสือยินยอมให้เผยแพร่รายงานได้ ตามตัวอย่างในคู่มือสหกิจศึกษา
รูปแบบการเขียนรายงาน (Report Format)
      รายงานสหกิจศึกษาเป็นรายงานทางวิชาการ ที่นักศึกษาจะต้องเขียนในระหว่างการปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานที่ปรึกษา
การเขียนรายงานสหกิจศึกษาจะต้องมีความถูกต้อง ชัดเจน และมีความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่จะนำเสนอรูปแบบและหัวข้อต่างๆ จะถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย
      1. ส่วนนำ เป็นส่วนประกอบก่อนที่จะเข้าถึงเนื้อหาของรายงาน ทั้งนี้เพื่อทำให้ง่ายต่อการเข้าสู่เนื้อหาของ
รายงาน ประกอบด้วย
            • ปกนอก
            • ปกใน
            • จดหมายนำส่งรายงาน
            • กิตติกรรมประกาศ
            • บทคัดย่อภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ
            • สารบัญเรื่องสารบัญตาราง
            • สารบัญรูปภาพ
      2. ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรายงานประกอบด้วย
            • บทนำ
            • การทบทวนเอกสาร (ถ้ามี)
            • วัตถุประสงค์ของการปฎิบัติงานสหกิจศึกษาหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย
            • งานที่ปฏิบัติหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย
            • สรุปผลการศึกษาหรือผลการปฏิบัติงาน
      3. ส่วนประกอบตอนท้ายเป็นส่วนเพิ่มเติม เพื่อทำให้รายงานมีความสมบูรณ์ ประกอบด้วย
            • บรรณานุกรม
            • ภาคผนวก (ถ้ามี)
      อย่างไรก็ตามในส่วนของเนื้อเรื่องของรายงานอาจจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการปฏิบัติงานของนักศึกษาแต่ละคนในแต่ละสถานประกอบการ
และเพื่อให้การเขียนรายงานของนักศึกษามีรูปแบบและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงได้กำหนดการจัดทำรูปเล่มรายงานดังต่อไปนี้
            • จัดพิมพ์บนกระดาษขนาดมาตรฐาน A4 80 แกรม สีขาวโดยอาจจะพิมพ์หน้าเดียวหรือสองหน้าก็ได้ ขนาดตัวอักษร 16 Point
            • จัดพิมพ์ในแนวตั้งเป็นหลัก โดยอาจจะมีรูปภาพหรือตารางแสดงในแนวนอนได้ตามความจำเป็นของข้อมูลที่จะต้องนำเสนอ
            • การเว้นขอบกระดาษกำหนดให้ ขอบบน 1.5 นิ้ว และขอบล่าง 1.0 นิ้ว ขอบซ้าย 1.2 นิ้ว (สำหรับการเข้าเล่มรายงาน) ขอบขวา 1.0 นิ้ว
เนื้อหาของรายงาน
งานสหกิจศึกษา กำหนดเนื้อหาในส่วนเนื้อเรื่องของรายงานดังนี้
      1. บทนำ ประกอบด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการและงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น
            • ชื่อและที่ตั้งของสถานประกอบการ
            • ลักษณะการประกอบการ ผลิตภัณฑ์/ผลผลิต หรือการให้บริการหลักขององค์กร
            • รูปแบบการจัดองค์กรและการบริหารงานขององค์กร (ในกรณีที่ไม่เป็นความลับ)
            • ตำแหน่งและลักษณะงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ
            • ชื่อ-สกุลและตำแหน่งงานของพนักงานที่ปรึกษาหรือพนักงานพี่เลี้ยง
            • ระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน
      2. วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา หรือโครงงานที่ได้รับมอบหมายประกอบด้วย
            • วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่นักศึกษาหรือพนักงานที่ปรึกษาได้กำหนดไว้ว่าจะต้องให้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยอาจจะจัดลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดไว้ก่อน
            • ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิบัติงานหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมายทั้งในส่วนตัวนักศึกษาเองและส่วนทีสถานประกอบการจะได้รับ
      3. งานที่ปฏิบัติหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย
            • รายละเอียดงานที่นักศึกษาปฏิบัติ โดยเขียนอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานหรือขั้นตอนปฏิบัติในโครงงานที่ได้รับมอบหมาย
            • แสดงภาพ แผนภูมิ หรือตารางที่จำเป็นประกอบคำอธิบาย
            • แสดงการคำนวณหรือที่มาของสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ชัดเจน ถูกต้องตามหลักวิชาการและง่ายต่อการเข้าใจ
            • หากเป็นงานปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการทดลอง จะต้องอธิบายเครื่องมือปฏิบัติการที่ใช้อย่างชัดเจน
      4. สรุปผลการศึกษาหรือผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย
            • การรวบรวมและแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์
            • วิเคราะห์และวิจารณ์ข้อมูลที่ได้โดยมีข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยเน้นในแง่การนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
            • เปรียบเทียบผลที่ได้รับกับวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติงานหรือของโครงงานที่ได้กำหนด
      เนื้อหาของรายงานอาจมีข้อมูลที่สถานประกอบการไม่ต้องการเปิดเผย ขอให้นักศึกษาได้ส่งรายงานให้พนักงานที่ปรึกษาหรือพนักงานพี่เลี้ยงตรวจสอบก่อนนำมาเผยแพร่
*** ตัวอย่างการเขียนรายงานสหกิจศึกษา ให้ศึกษาจากคู่มือสหกิจศึกษา
นักศึกษาสามารถศึกษาหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับสหกิจศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มงานสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยธนบุรี 284 ถ.เพชรเกษม ซ.เพชรเกษม 110 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร 10160 โทรศัพท์ 02-8090823-24 โทรสาร 02-8090829, 02-8090832
      • ฝ่ายพัฒนานักศึกษา โทรศัพท์ 02-8090823-27 ต่อ 237
      • สำนักงานอธิการบดี โทรศัพท์ 02-8090823-27 ต่อ 217
      • กลุ่มงานสหกิจศึกษา โทรศัพท์ 02-8090823-27 ต่อ 229
      • งานทะเบียนนักศึกษาให้กิจศึกษา โทรศัพท์ 02-8090823-27 ต่อ 229